โอชิเนจับมือ ม.ราชภัฏอุบลฯ เปิด ป.ตรี ผลิตบัณฑิตรองรับการเติบโต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 คุณวราพร ภาคโพธิ์ (ภรรยาเชฟบุญธรรม กระทะเหล็ก) กรรมการผู้จัดการบริษัท โอชิเน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เจ้าของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นโอชิเน และคุณกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ เชฟหนุ่ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดกิ ฟู้ด จำกัด บริษัทในเครือที่ทำหน้าที่จัดหาและจำหน่ายวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น ป้อนภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นหลายแห่งทั่วประเทศ ทำความร่วมมือครั้งสำคัญกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในการร่วมกันจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร วท.บ.การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 นี้

คุณกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ เชฟหนุ่ม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งนี้ ว่าเกิดจากการที่ภัตตาคารโอชิเนมีการเติบโตและขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่น้อยและหาได้ยาก รวมทั้งบริษัท ไดกิ ฟู้ด เองที่เป็นบริษัทในเครือที่จัดหาวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นจากต่างประเทศ แล้วมากระจายให้โอชิเนสาขาต่าง ๆ ของเรา งานของเรามีตั้งแต่การคัดเลือกและประเมินซัพพลายเออร์ นำเข้า จัดการคลังสินค้า รักษาคุณภาพ กระจายสินค้า จัดเก็บ ชี้บ่งและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร จัดการสาขา รวมถึงรักษามาตรฐานในการทำงานเมื่อมีสาขาต่าง ๆ มากขึ้น งานทั้งหมดเป็นงานใหญ่และจำเป็นต้องมีองค์ความรู้แบบองค์รวม กว่าเราจะพัฒนาคนได้เองก็ใช้เวลานาน หากรับคนนอกมา ก็รู้งานไม่ครอบคลุม และต้องมาใช้เวลาเรียนรู้งานอีกนาน ต่อมาทราบว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำลังพัฒนาหลักสูตรแบบใหม่ เป็นหลักสูตรนำร่องแบบที่เรียกว่า “CWIE หรือ ซีวี่” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ จึงได้หารือเรื่องดังกล่าว

เชฟหนุ่ม กล่าวต่อว่า “โอชิเน และไดกิ ฟู้ด มีหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับจังหวัดอุบล ฯ ทั้งผู้บริหารที่เป็นคนอุบล ฯ (เชฟบุญธรรม คุณวราพร เชฟหนุ่ม เชฟฮอนด้า ฯลฯ) โอชิเนสาขาแรกที่เมื่อเกือบ 8 ปีก่อนเริ่มต้นที่อุบล ฯ และบุคลากรของบริษัทอีกหลายสิบชีวิตที่เป็นคนบ้านเรา ดังนั้น การตัดสินใจครั้งนี้ จึงเป็นการตอบแทนสังคมอุบล ฯ โดยการพัฒนาลูกหลานคนอุบล ฯ ให้มีทักษะและประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในชีวิต ถือเป็นอุดมการณ์หนึ่งของโอชิเนในความรับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม ประกอบกับ ม.ราชภัฏอุบล ฯ นั้น มีภาพลักษณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ติดดิน บัณฑิตของราชภัฏมีภาพลักษณ์ในการสู้งานและซื่อสัตย์ตามที่บริษัทต้องการ”

ด้าน อ.เชษฐ์ ศรีไมตรี รองอธิการบดี ม.ราชภัฏอุบลฯ กล่าวว่า หลักสูตร CWIE ย่อมาจาก “Cooperative and Work Integrated Education” หรือ “หลักสูตรแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน” เป็นหลักสูตรในลักษณะร่วมผลิตระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกการทำงานจริงได้ทันที มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคต โดยใช้การจัดการเรียนการสอนทั้งในมหาวิทยาลัยและในสถานประกอบการเพื่อพัฒนาประสบการณ์และเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิต เมื่อ ม.ราชภัฏอุบล ฯ ตกลงจัดทำหลักสูตรกับโอชิเน พร้อมกับบริษัทอื่นอีกสองแห่งแล้ว จะเริ่มต้นเอาตำแหน่งงานที่บริษัทต้องการในระดับปริญญาตรี มากำหนดคุณลักษณะ ผลลัพธ์ และสมรรถนะของตำแหน่งงานนั้น ๆ เพื่อออกแบบเนื้อหาและวิธีการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยมีกิจกรรมสำคัญคือต้องให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกและทำงานจริง ในตำแหน่งงานนั้นในบริษัทให้มากที่สุด บริษัทต้องเป็นทั้งผู้ร่วมกำหนดผลลัพธ์ของหลักสูตร เป็นสถานที่ฝึกสถานที่จัดการเรียนการสอน ร่วมเป็นผู้สอน ผู้ช่วยสอน พี่เลี้ยง ผู้ประเมินผล และผู้ใช้บัณฑิต เรียกว่าเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนเลยทีเดียว

หลักสูตร วท.บ. การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม หลักสูตรใหม่แบบ CWIE พ.ศ. 2565 ที่ทำงานได้หลากหลายตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการสาขาธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ผู้จัดการสาขาธุรกิจภัตตาคารและฟาสต์ฟู้ด เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายผลิต เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพ เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายคลังสินค้า และฝ่ายโลจิสติกส์ เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมนวัตกรรม เจ้าหน้าที่/ผู้ดูแลระบบมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ นักวิเคราะห์ข้อมูลฝ่ายวิศวกรรมอุตสาหการ หรือฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต นักออกแบบกระบวนการผลิตและบริการ นักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

และที่สำคัญคือ มีการกำหนดสมรรถนะของนักศึกษาแต่ละชั้นปีว่า เมื่อจบแต่ละปีการศึกษา จะมีสมรรถนะทำงานในตำแหน่งงานระดับใด มีการจัดเนื้อหาและทักษะ รวมทั้งการฝึกงานในตำแหน่งที่ตรงกับสมรรถนะแต่ละชั้นปี ซึ่งเมื่อเรียนจบปีที่ 1 จะมีสมรรถนะในตำแหน่ง “พนักงาน” ในอุตสาหกรรม ปีที่ 2 จะมีสมรรถนะในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ” ปีที่ 3 มีสมรรถนะในตำแหน่ง “หัวหน้างานระดับต้น” และปีที่ 4 ปีสุดท้าย จะมีสมรรถนะเป็น “หัวหน้างานระดับกลาง ผู้จัดการสาขา หรือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ได้เลยทีเดียว

สำหรับการเรียนนั้น จะเป็นการเรียนสลับกับการทำงานในสถานที่จริงตลอดระยะ 3 ปีแรก หรือที่เรียกว่าเรียนแบบแซนด์วิช เรียนในมหาวิทยาลัยแล้วสลับเข้าบริษัทไปลองทำ จนถึงชั้นปีที่ 4 ที่จะต้องออกไปทำงานในบริษัททั้งปีการศึกษา (สองเทอม) ซึ่งเราก็จะพยายามกระจายน้อง ๆ ไปสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือกล่าวว่าเรียน 3 ปี ในมหาวิทยาลัย แล้วปีสุดท้ายออกทำงานจริงก็ได้ รวม ๆ แล้วมีเวลาออกฝึกทั้งหมดในหลักสูตรกว่า 60 สัปดาห์ (เกือบ 2 ปีการศึกษา) ซึ่งแบบนี้จะทำให้เมื่อเรียนจบ น้อง ๆ สามารถทำงานได้ทันที และทำงานได้ตรงตามความต้องการของบริษัท

นอกจากความร่วมมือของบริษัท โอชิเน เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัท ไดกิ ฟู้ด ในอุตสาหกรรมอาหารและบริการแล้ว ยังมีบริษัท นีนโมเดิร์น ในอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก และ หจก.เพชรเรือนทอง 2012 ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ร่วมทำความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย

หลักสูตร วท.บ. การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฏอุบล ฯ นี้ กำหนดเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 เป็นรุ่นแรกในภาคปกติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในห้วงของการรับสมัครนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยกำหนดเปิดรับรอบต่อไประหว่างวันที่ 2 – 10 พฤษภาคม นี้ ทางระบบ mytcas.com สนใจติดตามข้อมูลได้ที่ https://admission.ubru.ac.th/ และเฟสบุ๊กเพจ “การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม UBRU” โทร. 0 4535 2000

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *